วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปลดล็อคความต่างศาสนา


ในขณะสถานการณ์ความรุนแรงร้อนฉ่าในพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งจาก 2 กรณีสำคัญทั้งเหตุสังหารหมู่ในมัสยิดอัลฟุรกอนบ้านไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสและกรณียิงพระที่ จ.ยะลา ทั้งนักวิเคราะห์และฝ่ายความมั่นคงหลายคนชี้ว่าเป็นความพยายามจุดชนวนให้ เกิดสงครามศาสนาโดยฝีมือของขบวนการใต้ดิน
ไม่อาจเดาใจผู้ลงมือว่ามีเป้าประสงค์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ประเด็นยิงคนขณะละหมาดในมัสยิดและฆ่าพระได้ก่อให้เกิดบรรยากาศคุกรุ่นไป ด้วยความไม่ไว้วางใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นอีกครั้ง ประเด็น ‘แตกต่างแต่ไม่แตกแยก’ หรือ ‘ดอกไม้หลากสี’ อย่างที่พยายามทำความเข้าใจกันมาตลอดระยะเวลา 5 ปีถึงคราวต้องหยิบยกมาพูดซ้ำกันอีกรอบ

ดร.อิสมาแอล ลุฟฟี่ จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา นักวิชาการศาสนา ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาให้ทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวในงาน ‘กัมปงตักวา’ หรืองานเครือข่ายชุมชนศรัทธา ที่หอประชุมเทศบาลนครยะลา จ.ยะลาวันนี้ (20 มิ.ย.52) แม้จะพูดเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการสร้างกำปงตักวาตามหลักศาสนา แต่ก็ให้ความเห็นต่อประเด็นความอ่อนไหวอย่างปัญหาความแตกต่างทางศาสนาของพี่ น้องชาวพุทธและมุสลิมด้วยมุมมองแบบนักการศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ
“ถ้าเป็นกำปงแต่ไม่ตักวา จะสร้างความเสียหายได้ เพราะฉะนั้นคนที่ใช้คำว่ากำปงตักวาต้องระมัดระวังมากที่สุด อาจเป็นคำพูดที่ฟังดูดี ไพเราะ แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงทำได้ยาก” อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีการใช้ศาสนาพัฒนาชุมชน ซึ่งหยิบยกคำว่า ‘ตักวา’ หรือ ‘ศรัทธา’ เป็นจุดขายของโครงการ
“กำปงตักวานั้นถูกสร้างขึ้นครั้งแรกที่นครมาดินะห์ ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ็อลฯ)นำประชาชนไปสร้างขึ้น นั่นคือกำปงตักวา จริงๆ มันมีเงื่อนไข มีหลักการให้เกิดกำปงตักวา ต้องรู้ว่าเงื่อนไขต่างๆ มีอะไรบ้าง กำปงตักวาไม่จำเป็นต้องตักวาทุกคน คนอื่นก็มีครอบครัวตักวาเป็นของตนเอง แต่ทุกคนต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ถ้ายังชอบความดีงามที่มาจากอิสลามก็เลือกตักวาอิสลาม” ดร.อิสมาแอล ลุตฟี กล่าว ซึ่งเน้นย้ำถึงความแตกต่างของตักวาแต่ละบุคคล อันหมายถึงความแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ
ทั้งนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ให้ความทัศนะว่า ทุกศาสนาในโลกนี้มีจุดเหมือนกัน 5 ประการ
“ประการแรกคือความเป็นมนุษย์ ทุกคนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนที่เป็นมนุษย์ถูกสร้างจากอัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น ผมไปศึกษาจากทุกศาสนา ไม่มีศาสนาไหนบอกว่าใครสร้าง เพราะฉะนั้นชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม อัลลอฮ์เป็นผู้สร้าง นั่นคือทัศนะของอิสลาม มนุษย์ทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ไม่มีคัมภีร์ของศาสนาไหนบอกว่าตนเองสร้าง นอกจากอิสลามที่บอกว่าอัลลอฮ์คือพระผู้สร้าง ทุกคนเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ แม้บางคนไม่ศรัทธาก็ไม่ได้ลดทอนความเป็นพระผู้ทรงสร้างแต่อย่างใด”


“ประการที่สอง มนุษย์ทุกคนมีพ่อคนเดียวกันคืออาดัม และอัลลอฮ์ทรงสร้างองค์เดียว นั่นคือสิ่งที่อิสลามสอน ส่วนประการที่สาม คือ เราอยู่ในสมัยของศาสนทูตนบีมูฮัมมัด (ศ็อลฯ)เดียวกัน ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นประชาชาติของมูฮัมหมัด จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธาก็ล้วนเป็นประชาชาติเดียวกัน เปรียบเหมือนประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสื้อแดงไม่รับ เสื้อเหลืองชอบ แต่เราก็ยังมีนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีนายกคนที่สองของคนไทยคนอื่น ใครไม่ศรัทธาก็ไม่เสียหาย เพราะนบีมูฮัมมัด เป็นนบีของคนทั้งโลก” อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลากล่าวและว่า
“ส่วนประการที่สี่นั้น ท่านนบีรับคำสั่งจากอัลลอฮ์ว่าทุกคนที่เป็นมนุษย์เป็นพี่น้องกัน ในบทดุอาอ์กล่าวว่า ฉันยืนยันว่าทุกคนที่เป็นมนุษย์คือพี่น้องกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ควรทะเลาะกัน หรือหากทะเลาะก็ทะเลาะแบบพี่น้อง แม้ว่าความจริงพี่น้องจะมีหลายระดับชั้น ชั้นพี่น้องไม่เหมือนกัน พี่น้องต่างแม่ พี่น้องต่างพ่อ พี่น้องศาสนาเดียวกัน พี่น้องต่างศาสนา แต่การเป็นพี่น้องกันศาสนาอิสลามยอมรับ ไม่ใช่ว่าศาสนาอื่นไม่ใช่พี่น้อง ไม่ใช่อย่างนั้น”

“ประการสุดท้ายคือประการที่ห้า ทุกศาสนาสอนเหมือนกันว่าเราต่างเป็นศัตรูของมาร ทุกศาสนาประกาศตัวว่าเราเป็น ‘ศัตรูของมารร้าย’ ไม่ว่ามารในรูปแบบไหน ที่เป็นสิ่งไม่ดี ทุกศาสนาบอกว่านั่นคือศัตรู”
นี่คือทัศนะของผู้รู้ทางศาสนาอิสลามซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าเหตุผลแท้จริงของประเด็นความขัดแย้งอันอ่อนไหวนี้จะไม่ถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยของคนสองศาสนาในพื้นที่ แต่เมื่อปรากฏผู้รู้ที่ได้รับการยอมรับจากคนจำนวนมากออกมาให้ความเห็นใน ลักษณะของการให้สติกับคนทุกศาสนา น้ำเสียงดังกล่าวจึงเป็น ‘น้ำหนัก’ ที่น่าสนใจยิ่ง
แต่ท้ายที่สุด ภาระนี้ผู้มีหน้าที่โดยตรง คือฝ่ายความมั่นคงต้องทำให้ความจริงปรากฏออกมาโดยเร็ว!!!
 
ที่มา ปลดล็อคความต่างศาสนา ในทัศนะ ‘อิสมาแอลลุตฟี่ จะปะกียา’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น